มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน
ม.8 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 76120 081-2786765
ประวัติความเป็นมามัสยิด
มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานตั้งอยู่ในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิมอันเนื่องมาจากพระราชดำริศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย หมู่ที่ 1 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีเดิมบริเวณแห่งนี้เป็นป่าละเมาะสภาพอากาศแห้งแล้งมากในช่วงฤดูร้อน ในปี 2515-2517ได้มีมุสลิมจากอำเภอบ้านแหลม จำนวน 17 ครอบครัว และมุสลิมจากสมุทรสงครามจำนวน 7 ครอบครัวอพยพเข้ามาซื้อที่ดินประกอบอาชีพปลูกสับปะรด และต่อมาก็มีมุสลิมจากสมุทรสงครามและเพชรบุรีทยอยกันมาซื้อที่ทำไร่ปลูกสับปะรดมากขึ้นทุกที ซึ่งมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ในห้วยทรายนี้ยังไม่มีมัสยิดที่จะทำการละหมาดวันศุกร์และประกอบศาสนกิจร่วมกัน
เด็กๆ ก็ไม่มีที่จะเรียนทางด้านศาสนา
ในปี 2522 ชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งมัสยิดเป็นครั้งแรก โดยนายซบ นาคอนุเคราะห์(อดีตอิหม่าม)ได้วะกัฟที่ดินให้สร้างมัสยิดจำนวน 1 ไร่ ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างตามมีตามเกิดโดยสละแรงเงินและแรงงานสร้างมัสยิด ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 22 เมตรให้ชื่อว่า “มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน” แต่ก็สร้างได้เพียงหลังคากับพื้นมัสยิดเท่านั่นเพราะชาวบ้านส่วนมากยากจน นายซบนาคอนุเคราะห์จึงออกใบบอกบุญไปถึงพี่น้องทางกรุงเทพโดยนายวันชัย วงศ์ซารา กับคณะมุสลิมธรรมมานุเคราะห์ได้นำเงินมาร่วมกันทำบุญสร้างต่อเติม ทำฝาผนัง ประตูหน้าต่างจนสามารถทำการละหมาดได้ แต่ก็ยังไม่ได้ฉาบปูนตัวอาคารมัสยิด คณะกรรมการจึงได้ร่วมกันจัดงานหารายได้เป็นครั้งแรก โดยมีคุณหญิงสมร ภูมิณรงค์เป็นประธานในพิธี และฮัจยียะฟัร จันทร์อ้น เป็นประธานจัดงาน
ในปี 2525 เพื่อนำรายได้มาฉาบปูนตัวอาคารมัสยิดและทำห้องน้ำ ในปี 2530 ฮัจยีอำพลกับคณะจากกรุงเทพได้นำมิมบัรและหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่และถ้วยชามมาวะกัฟให้มัสยิด ในปี 2532 คุณอัมพร กุลศิริสวัสดิ์ พร้อมกับสามีได้รับทาสีตัวมัสยิด และห้องน้ำจนแล้วเสร็จ ในขณะนั้นคณะกรรมการไม่ทราบว่าที่ดินบริเวณมัสยิดเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระองค์ไปขอจดทะเบียนมัสยิดก็จดไม่ได้เพราะหลักฐานไม่ครบ ในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปดูงานและทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำรินายซบ นาคอนุเคราะห์จึงได้กราบทูลเชิญไปประทับในมัสยิด และกราบทูลความเป็นมาพร้อมปัญหาของมัสยิด ในหลวงทรงทราบปัญหา จึงทรงพระราชทานที่ดิน เพิ่มอีก 5 ไร่ ต่อจากนั้นคณะกรรมการมัสยิดจึงได้ถวายมัสยิดให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระองค์ พระองค์ทรงตรัสว่า “ขอรับไว้ด้วยความเต็มใจ” ต่อมาคณะกรรมการได้ขอจดทะเบียนเรียบร้อยและได้สร้างกำแพงสุสาน(กุโบร์) ส่วนคณะกรรมการได้จัดตั้งกันใหม่โดยมีนายซบนาคอนุเคราะห์เป็นอิหม่าม ฮัจยี ยะฟัร จันทร์อ้น เป็นคอเต็บ และฮัจยี มะน๊าฟ ประสบสุขเป็นบิหลั่น ในวันที่ 26 มกราคม 2534 คณะกรรมการมัสยิด สัปบุรุษและชาวบ้านได้ร่วมกันวางศิลารากฐานโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน ในงานพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างครั้งนี้จำนวน 20,000 บาท ในปี 2535 คณะกรรมการมัสยิด สัปบุรุษและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานหารรายได้เพื่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริจักรพันเป็นประธานในพิธีและฮัจยะห์ อุษา แสงสุวรรณเป็นประธานจัดงาน ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างครั้งนี้อีกจำนวน 20,000 บาท ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จและจัดงานพิธีเปิดป้ายในปี 2536 โดยมีนายจุลภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรีเป็นประธานในงานพิธีเปิดป้ายโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน ตัวอาคารสร้างเป็นตึกครึ่งไม้กว้าง 8 เมตร ยาว 17 เมตร พร้อมด้วยห้องน้ำงบประมาณในการสร้างทั้งหมด 290,000บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ร่วมบริจาคทรัพย์ส่วน พระองค์ในการสร้างทั้งหมดจำนวน 40,000 บาท ปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาของมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานมีนักเรียน ประมาณ 50 คน เนื่องจากมุสลิมในหมู่บ้านห้วยทรายเพิ่มมากขึ้นทำให้เวลาประกอบศาสนกิจร่วมกันในมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซาน จะแออัดและคับแคบมากและอาคารบางส่วนที่เป็นไม้ชำรุด ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาว ไทยมุสลิมและหมู่บ้านใกล้เคียง ฮัจยีซบ นาคอนุเคราะห์และกรรมการมัสยิดจึงได้กราบทูลให้ทราบถึงปัญหาของมัสยิดและขอ พระบรมราชานุญาตสร้างมัสยิดหลังใหม่ทดแทนมัสยิดหลังเก่า โดยรื้อหลังเดิมออกแล้วสร้างใหม่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาต และยังทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน 100,000อบาทอเป็นประถมฤกษ์ มัสยิดหลังใหม่นี้ได้เริ่มวางศิลารากฐานก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯเสด็จมาเป็นประธานในพิธีวางศิลารากฐาน หลังจากนั้นเงินบริจาคก็หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ ใช้เวลาก่อสร้างอยู่ประมาณ 3 ปีมัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานก็แล้วเสร็จ เป็นมัสยิดหลังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้โดยในหลวงได้ทรงมอบทรัพย์สินส่วนพระองค์สมทบทุนสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท และได้ทำพิธีเปิดป้ายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2543 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายด้วยหลังจากสร้างมัสยิดแล้วเสร็จในหลวงได้เสด็จเข้าประทับในมัสยิดแห่งนี้อีกหนึ่งครั้ง
มัสยิดนูรุ้ลเอี๊ยะซานออกแบบตามสถาปัตยกรรมอาหรับ มีโดมทองใหญ่อยู่ด้านหน้า ด้านข้างโดมทองมีหออะซานทั้งซ้ายและขวา ตัวหออะซานนั้นมีลวดลายซิกแซ๊กสลับกันระหว่างสีขาวกับสีน้ำเงินตามแบบมัสยิดที่มะดีนะห์
ขอบของประตูหน้าต่างและช่องลมรอบมัสยิดจะเป็นรูปโค้งสามหยักคล้ายกลีบดอกไม้ โดยคุณอุษา แสงสุวรรณและคุณมนตรี หนูมา เป็นผู้ออกแบบ ตัวมัสยิด ซึ่งปัจจุบันฮัจยียะฟัร จันทร์อ้น เป็นอิหม่ามคนปัจจุบันของมัสยิดแห่งนี้
ที่มา http://www.icopbi.or.th/