จริยธรรมทางการค้าในอิสลาม

     ในชั่วข้ามคืน ชื่อของ มาร์ติน ชเครลี กลายเป็นที่จดจำอย่างรวดเร็วในฐานะ บุคคลที่โลกเกลียดชัง จากการที่เขาประกาศขึ้นราคายา ดาราพริม ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ ท็อกโซพลาสโมซิส ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นอันตรายถึงชีวิต รวดเดียวจากราคาเม็ดละ 13.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 750 ดอลลาร์หรือประมาณ 470 บาท เพิ่มเป็น 26,250 บาท โดยนายชเครลีอ้างว่า จะนำผลกำไรไปลงทุนพัฒนายาอื่นๆต่อ เนื่องจากการค้นคว้าวิจัยและทดลองจนกว่าจะได้ยาที่มีประสิทธิภาพนั้นมีต้นทุนสูง




 

     

     อันที่จริง ประเด็นจริยธรรมทางการค้าเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาเนิ่นนาน โดยมากก็หนีไม่พ้นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้านายทุน ซึ่งจำเลยเจ้าเก่าก็มักไปตกลงที่ระบอบทุนนิยม, การค้าเสรี, ระเบียบโลกใหม่ ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีส่วนผิดอยู่จริง แต่ก็มิได้หมายความว่า มนุษย์ ในฐานะผู้ที่มีสิทธิเลือกตามธรรมชาติจะลอยตัวต่อเรื่องนี้ และมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเอาแต่ชี้นิ้วโทษผู้อื่นโดยไม่มองดูตัวเอง

 

     แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของการค้าคือผลกำไร กว่าที่ใครซักคนจะฝ่าฟันเพื่อนำเสนอสินค้าออกสู่ท้องตลาดย่อมมีต้นทุนมหาศาล ทั้งในด้านเวลา กำลังทรัพย์ กำลังสมอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ค้าที่มีอำนาจในการกำหนดราคาจะสามารถเรียก ค่าเหนื่อย ได้อย่างไร้ขอบเขต พระองค์อัลลอฮ์ (..) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

 

โอ้บรรดาผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้า ในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า

(ซูเราะฮ์อันนิซาอ์ โองการที่ 29)

                             

      จากสาระของโองการดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการแบ่งเบาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก ซึ่งหากย้อนกลับไปที่พฤติกรรมของ มาร์ติน ชเครลี ที่กล่าวถึงไปในช่วงต้นก็จะพบว่าช่างห่างไกลจากหลักการของอิสลามเป็นอย่างยิ่ง และท่ามกลางเสียงก่นด่าจากประชาคมโลก ชเครลี ยังคงเดินหน้าเรียกเสียงสาปแช่งด้วยการประกาศอย่างเลือดเย็นว่า

     

    นี่คือการตัดสินใจทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมซึ่งจะทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นของเราทุกคน

    

     “ไม่ต้องสงสัย ผมมันทุนนิยม ผมสร้างบริษัทยาใหญ่ เพื่อให้เป็นบริษัทยาที่ประสบความสำเร็จ และเป็นบริษัทที่ทำกำไร

 

    อิสลามกับจริยธรรมทางการค้า

     บทบัญญัติในศาสนาอิสลามมีข้อห้ามในการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าซึ่งครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามกักตุนสินค้า ดังที่ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด (..) ได้กล่าวว่า  :

 

ผู้ใดกักตุนสินค้า ดังนั้นเขาอยู่ในฐานะผู้กระทำผิด

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

      ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคดโกง ฉ้อฉล หรือสร้างความเดือดร้อนใดๆ ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่ปรากฎในตัวบทอัลฮะดีษที่ว่า

 

จะต้องไม่ให้มีการสร้างความเดือดร้อนเกิดขึ้น และจะต้องไม่ให้มีการทำความเดือดร้อนให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในอิสลาม

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

     ท่านคอลีฟะฮ์อะลี อิบนุ อบีฎอลิบ  (รอฎิยัลลอฮุอัลฮุ) ได้เรียกร้องไปสู่แนวคิดการตั้งราคาที่เป็นธรรมซึ่งจะไม่เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ขายและผู้ซื้อ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า :

 

จำเป็นจะต้องมีการซื้อขายกันด้วยราคาที่ไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบกันทั้งสองฝ่าย คือผู้ขายและผู้ซื้อ

 

     คำพูดของคอลีฟะฮ์อาลี (รอฎิยัลลอฮุอัลฮุ) มีความหมายว่า ราคาที่เป็นธรรมของสินค้าจำเป็นจะต้องเป็นราคาที่ไม่เอารัดเอาเปรียบทั้งสองฝ่าย ที่ทำสัญญาการค้าคือผู้ขายและผู้ซื้อ(คือผู้ที่เสนอกับผู้ที่สนอง หรือผู้ที่ผลิตกับผู้ที่บริโภค) ราคาที่เป็นธรรมในอิสลามคือราคาที่ไม่ไปฉ้อฉล คดโกง ผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดาผู้ที่ได้กระทำสัญญาซึ่งกันและกัน ดังนั้นผู้ที่ผลิตหรือผู้ที่ขายจะต้องไม่คดโกง ฉ้อฉล เช่นเดียวกัน

 

     กรณีของ มาร์ติน ชเครลี ไม่ใช่ข่าวใหม่ ผู้ที่ติดตามข่าวสารโดยทั่วไปก็จะทราบดีว่าการขึ้นราคายาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งปรากฎเป็นข่าวครึกโครมในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการรายงานข่าวการจับกุม นายมาร์ติน ชเครลี โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ที่เมืองแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก ในข้อหาใช้ทรัพย์สินของบริษัท โรโทรฟินí ที่นายชเครลีเคยเป็นซีอีโอ ในการจ่ายหนี้อย่างผิดกฎหมาย หลังจากบริษัทกองทุนเฮดจ์หันด์ เอ็มเอสเอ็นบี แคปิตอล เมเนจเมนต์ ที่เขาเคยเป็นผู้จัดการ สูญเสียเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

        นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การละเมิดขอบเขตอันควร ย่อมนำมาซึ่งความเดือดร้อนไม่เพียงสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ผู้ที่สร้างมันขึ้นมาก็จะได้รับผลตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮ์ในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่สร้างความเสียหายขึ้นมาบนหน้าแผ่นดิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ โปรดยอมรับนโยบายคุกกี้เพื่อประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดของท่าน ท่านสามารถศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมคุกกี้ของท่านผ่านนโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่ ยอมรับ