ฮาลาล....แบบคลีนๆ
ในปัจจุบัน
กระแสการบริโภคอาหาร “คลีนฟู้ด”
กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของสารตกค้างในอาหารที่รับประทานกันมาหลายต่อหลายปี
ซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อร่างกาย นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จากผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร
พ.ศ.2556* พบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงถึงเป็นอย่างแรกในการเลือกซื้ออาหารคือรสชาติ
(ร้อยละ 24.5) รองลงมาคือความสะอาดและความชอบ
(ร้อยละ 19.4 และ 17.7 ตามลำดับ)
อยากทาน (ร้อยละ 14.9) คุณค่าทางโภชนาการ (ร้อยละ 12.8) ความสะดวกรวดเร็วและราคามีน้อยกว่าร้อยละ 10
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างน้อย
(ร้อยละ 12.8) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของประชาชน
อาหารคลีน
กระบวนการทวงคืนสุขภาพดี
การปรากฎขึ้นมาของกระแสการบริโภคอาหารคลีนถือเป็นกระบวนการที่ผู้บริโภคใช้ในการทวงคืนสุขภาพที่ดีในทางหนึ่ง เป็นภาพสะท้อนถึงความโหยหาคุณภาพชีวิตที่ดีที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง คลีนฟู้ด (Clean Food) คือ อาหารที่ลดการปรุงแต่งให้เหลือน้อยที่สุด จำกัดกระบวนการต่างๆ ก่อนเข้าสู่ร่างกาย โดยอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มคลีนฟู้ดนั้นมีมากมาย อาทิเช่น ผักสด ผลไม้สด ข้าวกล้องที่ไม่ผ่านการขัดสี อาหารที่ไม่ต้องทอดหรือต้ม หรือย่างจนไหม้เกรียม เป็นต้น
วิถีฮาลาล
มหาเมตตาสู่มวลมนุษย์
“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่ฮาลาล ดี มีประโยชน์ จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน
และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฎอน (มารร้าย) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า”
(อัล-บากอเราะห์ : 168)
ศาสนาอิสลามต้องการให้มวลมนุษย์บริโภคแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากโองการจากคัมภีร์อัล-กุรอานที่ยกมาข้างต้น ซึ่ง สิ่งดีๆ ที่ศาสนาอิสลามหมายถึงก็คือ อาหารฮาลาล
หลักการฮาลาลได้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อกว่า 1,400 ปีที่ผ่านมา นับเป็นมาตรฐานทางอาหารที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ศาสนาอิสลามได้กำหนดแนวทางในการบริโภคให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลามให้ดำรงตนอยู่ในแนวทางสายกลาง
และไม่สนับสนุนให้บริโภคจนเกินตัว ซึ่งส่งผลเสียทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนการดำเนินชีวิตแบบนักพรตที่ละเว้นจากการบริโภค
ดังข้อความจากคัมภีร์อัล - กุรอานที่ว่า :
“และพวกเจ้าจงกิน
จงดื่ม แต่พวกเจ้าอย่าสุรุ่ยสุร่าย”
(อัล-อะอ์รอฟ : 31)
ในขณะที่นะบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาอิสลามก็ได้สนับสนุนให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามให้ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
ดังวจนะที่ว่า :
“และสำหรับร่างกายของเจ้านั้น เป็นหน้าที่ ซึ่งเจ้าต้องดูแลมัน”
(รายงานโดย บุคคอรีและมุสลิม)
ทั้งยังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอว่า :
“ผู้ใดตื่นเช้าขึ้นมามีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีจิตใจที่สงบร่มเย็น ไม่มีความวิตกกังวลทุกข์ร้อนมีอาหารสำหรับบริโภค
ในมื้อนั้น ก็ประหนึ่งว่าเขาผู้นั้นได้ครองโลกไว้ทั้งโลก”
(รายงานโดย ติรมีซีย์
, อิบนิมายะฮ์ , บุคคอรี)
ในขณะเดียวกัน อาหารฮาลาลไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อบังคับในการบริโภค
แต่ยังถือเป็นศาสนกิจอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงออกถึงการยอมจำนนต่อหลักการของศาสนา ในการยับยั้งความต้องการบางอย่างที่ขัดกับหลักการศาสนา
ส่วนการบริโภคอาหารที่ไม่ฮาลาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำสู่ไฟนรก ดังคำกล่าวของศาสดาที่ว่า
:
“ก้อนเนื้อทุกชิ้นที่เติบโตมาจากสิ่งฮะรอม
(ก้อนเนื้อนั้น) ไฟนรกจะเผาผลาญเป็นเบื้องแรก”
(รายงานโดย ฎ็อบเราะนีย์)
การที่หลักการฮาลาลเป็นหนึ่งในหลักการของศาสนาได้กลายเป็นเครื่องประกันว่าอาหารฮาลาลจะไม่มีวันสาบสูญไปตราบใดที่ยังมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม
จากข้อกำหนดใช้ดังกล่าวนั่นเองที่เป็นการยืนยันว่า การบริโภคอาหารตามหลักการศาสนาอิสลาม และการบริโภคอาหารคลีนฟู้ดไม่ได้อยู่ในขั้วตรงข้ามกัน แต่เป็นการมุ่งหวังในเป้าหมายเดียวกัน คือ การบริโภคที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ออกห่างจากโรคภัย ผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในสุขภาพสามารถประยุกต์แนวทางอาหารฮาลาลเข้ากับแนวทางแบบคลีนฟู้ดได้อย่างไม่ขัดเขิน ส่วนผู้ที่เป็นมุสลิม หลักการศาสนาก็ไม่ได้มีข้อห้ามในการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หากอาหารเหล่านั้นไม่ได้ถูกห้ามตามบทบัญญัติทั้งทางกายภาพและทางด้านความเชื่อ
อิสลามเป็นศาสนาที่ถูกประธานลงมาด้วยกับลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุุษย์
คล้องจองและเหมาะสมกับทุกกรณียกิจในชีวิต การนำเอาหลักการศาสนาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันไม่ได้เป็นเพียงการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระผู้สร้างเท่านั้น
แต่มุสลิมยังเชื่อว่านั่นจะเป็นหนทางที่นำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จทั้งในเวลานี้
และในโลกหน้า
อินชาอัลลอฮ์
*ข้อมูลจากเว็บไซท์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ประวัติผูเขียน
ชื่อ - นามสกุล : นายสมศักดิ์ ซูโอ๊ะ
การศึกษา : ปริญญาตรีสาขา นิติศาสตร์สาขาเอกนิติศาสตร์อิสลาม
มหาวิทยาลัย อัล- อัซฮัร (AL-AZHAR UNIVERSITY) กรุงไคโร ประเทศ อียิปต์
ปริญญาโท หลักสูตรเทคโนโลยีการบริหาร คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ประวัติการประสบการณ์ด้านการอบรมและการศึกษาดูงาน
- อบรมหลักสูตร Lead Auditor ISO 9001:2015 มีนาคม 2560 (5 วัน)
- อบรมหลักสูตร ISO 22000 food safety กุมภาพันธ์ 2560
- อบรมหลักสูตร ISO 17062 CB มกราคม 2560
- อบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบระบบมาตรฐานฮาลาล ปี 2559 โดย ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- อบรมหลักสูตร GMP-HACCP จัดโดยสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย 2557
- อบรมหลักสูตรการตรวจประเมินโรงงานอุตสาหกรรม (ในระบบ GMP / HACCP/ ISO9000) รุ่นที่ 2/2550 โดยสถาบันอาหาร
- ที่ปรึกษาโครงการ Halal-HACCP ของสถาบันอาหาร
- อบรมหลักสูตรมาตรฐานฮาลาลประเทศมาเลเซีย ณ เมืองซาลังงอ ประเทศมาเลเซีย ปี 2552
- ศึกษาดูงานด้านตรวจสอบระบบมาตรฐานและการรับรองฮาลาลมาเลเซีย/สิงคโปร์ ปี 2548
- จัดโดยสำนักมาตรฐานฮาลาลของประเทศมาเลเซียอบรมหลักสูตรการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปในระบบ GMP / HACCP ปี 2547 โดย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขอบข่ายงานปัจจุบัน
- วิทยากรฮาลาล ปัจจุบัน
- ที่ปรึกษาการวางระบบ Halal ปัจจุบัน
- หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบ สถาบันมาตรฐานฮาลาล ปี 2550
- ที่ปรึกษาฮาลาล สถานประกอบการ ปี 2545
- ผู้ตรวจสอบระบบมาตรฐานอาหารฮาลาล ปี 2544
- อาจารย์ด้านศาสนาและภาษาอาหรับ ปี 2543